วันพุธ (กลางวัน)
ปางอุ้มบาตร

 

ลักษณะของพระพุทธรูป

พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถยืน ส้นพระบาททั้งสองชิดกัน
พระหัตถ์ทั้งสองยกประคองบาตรราวสะเอว มีบาตรวางอยู่ที่ฝ่าพระหัตถ์ในท่าประคองด้วย
นิยมเรียกว่าปางอุ้มบาตรนิยมสร้างขึ้นเป็น พระประจำวันของคนเกิดวันพุธ

 

มีประวัติและตำนานดังนี้

เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จไปยังพระนครกบิลพัสดุ์ ครั้งแรกทรงทำอิทธิปาฏิหาริย์เหาะขึ้นไปบนอากาศ
ทรมานให้พระประยูรญาติให้ถวายบังคมแล้วเสด็จลงมาประทับนั่ง
พระบวรพุทธอาสน์ยังฝนโบกขรพรรษให้ตกลงในท่ามกลางสมาคมพระญาติ
แล้วทรงประกาศมหาเวสสันดรชาดก ยกขึ้นเป็นเทศนามีข้อความตามนัยที่พรรณนาไว้
ในเรื่องพระพุทธรูปปางทำอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นปางที่ ๒๘ สำหรับพระพุทธรูปปางที่ ๒๙
คือปางอุ้มบาตรนี้ มีเรื่องต่อเนื่องมาว่า ครั้นพระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมจบแล้ว
บรรดาพระญาติทั้งหลายมีพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดาเป็นประธาน
ก็ได้ความเบิกบานปีติปราโมทย์ เปิดพระโอษฐ์ ซ้องสาธุการแล้วพระญาติทั้งหลายก็กราบทูลลา
คืนยังพระราชสถาน มิได้มีพระญาติสักองค์หนึ่งได้กราบทูลถวายพระกระยาหารในยามเช้าพรุ่งนี้
แม้แต่พระเจ้าสุทโธทนะก็เพียงแต่ทูลลา มิได้ทูลอาราธนาเสวยพระกระยาหารเช้าเช่นกัน
ด้วยทรงนึกไม่ทันว่าธรรมดาพระจะต้องอาราธนาจึงจะได้มารับบิณฑบาตในบ้าน
ซึ่งเป็นปกติสามัญของประชาชนทั่วไป แต่พระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดากับทรงรู้สึกอย่างเป็นพระญาติที่สนิทว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระโอรส พระสงฆ์สาวกเล่าก็เป็นศิษย์ของพระโอรสแล้วพระโอรสจะเสด็จ
ไปไหนเมื่อไม่มายังพระราชนิเวศน์ของพระองค์ ไม่จำต้องทูลอาราธนา
โดยแน่พระทัยว่าพระบรมศาสดาจะต้องทรงพาพระสาวกทั้งหลายมาเสวยพระกระยาหารในพระราชนิเวศน์เป็นแน่แท้
การเสด็จไปเสวยที่คฤหาสน์ของใครที่ไหน แม้จะเป็นพระญาติของพระองค์ก็ไม่เหมาะไม่ควร
เท่ากับเสด็จมายังพระราชนิเวศน์ เพราะพระเจ้าสุทโธทนะ ทรงแน่พระทัยดังนี้
จึงไม่เปิดพระโอษฐ์ออกพระวาจาทูลอาราธนา ยิ่งกว่านั้นยังกับเห็นว่าหากออกพระกระแสรับสั่ง
ทูลอาราธนาขึ้น การกลับจะกรายไปว่าพระบรมศาสดาเป็นคนอื่นมิใช่พระโอรส
ครั้นพระเจ้าสุทโธทนะแน่พระทัยเช่นนี้แล้วเมื่อเสด็จถึงพระราชนิเวศน์จึงโปรดให้พนักงานวิเศษจัดแจงตกแต่ง
อาหารอันประณีตไว้พร้อมมูล เพื่อถวายพระบรมศาสดาและพระภิกษุสงฆ์สาวกทั้งมวลในวันพรุ่งนี้
ตลอดเย็นจนถึงเวลารุ่งเช้าไม่ปรากฏว่ามีใครอาราธนาพระบรมศาสดาไปเสวย ณ ที่ใด
พระบรมศาสดาก็ทรงบาตรพาภิกษุสงฆ์บริษัทเสด็จพระดำเนินไปตามท้องถนนหลวง
ปรากฏแก่ปวงประชาราษฏร์ จึงต่างก็ได้โอกาสชมพระบารมี และมีความปีติยินดีประนมหัตถ์นมัสการ
นับเป็นครั้งแรกที่ชาวเมืองกบิลพัสดุ์ ได้เห็นพระบรมศาสดาจารย์ทรงอุ้มบาตร
เสด็จพระพุทธลีลาโปรดประชาสัตว์ เพิ่มพูนความปีติโสมนัสสุดจะพรรณนา

จบตำนานพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรแต่เพียงนี้

 


วัดธรรมบารมี เมืองดอร์ทมุนด์