เทศกาลสงกรานต์

“สงกรานต์” เป็นประเพณีที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ในสังคม    และสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน เช่น ความกตัญญู  ความโอบอ้อมอารี    ความเอื้ออาทรต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมโดยใช้น้ำเป็นสื่อในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกัน  เป็นประเพณีหนึ่งที่เก่าแก่ของไทยที่ได้ยึดถือปฏิบัติมาแต่โบราณ

คำว่า “สงกรานต์” เป็นภาษาสันสฤต  แปลว่าก้าวขึ้น  ย่างขึ้นหรือเคลื่อนที่ หมายถึง ช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่ง  ซึ่งเมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนสู่ราศีเมษ  ถือว่าเป็นสงกรานต์ปี จะเรียกพิเศษว่า “มหาสงกรานต์” อันเป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งเป็นการนับทางสุริยคติ    มักจะตกอยู่ในระหว่างวันที่ ๑๓  ๑๔ และ ๑๕ เมษายน  โดยแต่ละวันจะมีชื่อเรียกเฉพาะ ดังนี้

วันที่ ๑๓ เมษายน เรียกว่าวันมหาสงกรานต์  หมายถึงวันที่พระอาทิตย์ก้าวขึ้นสู่ราศีเมษอีกครั้งหนึ่ง  หลังจากผ่านเข้าสู่ราศีอื่นๆมาแล้ว ๑๒ เดือน    ซึ่งวันที่ ๑๓ เมษายนนี้   ทางการยังกำหนดให้เป็น“วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” ด้วย เพื่อให้ลูกหลานได้เห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ ซึ่งมักเป็นบุพการีหรือผู้อาวุโสที่เคยทำคุณประโยชน์แก่ชุนชน/บ้านเมืองหรือสังคมนั้นๆมาแล้ว

วันที่ ๑๔ เมษายน เรียกว่าวันเนา แปลว่าวันอยู่  หมายถึงวันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษเรียบร้อยแล้ว  วันนี้รัฐบาลได้กำหนดให้เป็น “วันครอบครัว” ด้วย

วันที่ ๑๕ เมษายน เรียกว่าวันเถลิงศก  หรือวันพญาวัน คือวันเริ่มเปลี่ยนจุลศักราชใหม่  หรือวันเริ่มปีใหม่

ทั้งสามวันนี้     หากคำนวณตามโหราศาสตร์จริงๆ อาจจะมีการคลาดเคลื่อนไม่ตรงกันบ้าง   เช่น   วันมหาสงกรานต์ อาจจะเป็นวันที่ ๑๔ เมษายน แทนที่จะเป็นวันที่ ๑๓ เมษายน  แต่เพื่อให้จดจำได้ง่าย จึงกำหนดเรียกตามที่กล่าวข้างต้น

จากการที่สงกรานต์เป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทย ที่ได้ยึดถือปฏิบัติมาช้านาน และมีธรรมเนียมปฏิบัติที่ชัดเจนสืบทอดต่อมาจนกลายเป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่งดงาม มีความมุ่งหมายที่จะก่อให้เกิดความสงบสุขแก่จิตใจ ครอบครัวและสังคมเป็นสำคัญ   เทศกาลนี้จึงมีกิจกรรมอันหลากหลายและมีเหตุผลในการกระทำทั้งสิ้น   ซึ่งกลุ่มประชาสัมพันธ์  สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จะขอยกตัวอย่างกิจกรรมต่างๆที่นิยมจัดหรือทำกันในภาคต่างๆเป็นภาพรวมเพื่อให้ทราบ ดังต่อไปนี้


ก่อนวันสงกรานต์  มักจะเป็นการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆเพื่อความเป็นสิริมงคลในการต้อนรับชีวิตใหม่ที่จะเริ่มต้น
ขึ้นในวันปีใหม่ คือ การทำความสะอาดบ้านเรือนที่อยู่อาศัย   รวมถึงข้าวของเครื่องใช้  บางคนก็ไปช่วยทำความสะอาดที่สาธารณะต่างๆ เช่น วัด โรงเรียน  ชุมชน เป็นต้น รวมทั้งมีการจัดเตรียมอาหารคาวหวานเพื่อไปทำบุญ  หลายๆคนก็มีการจัดเตรียมเสื้อผ้า เครื่องประดับที่จะใส่ไปทำบุญ ตลอดจนมีการจัดผ้าที่จะนำไปไหว้ผู้ใหญ่ที่จะไปรดน้ำขอพรจากท่านด้วย

การเตรียมตัวในเรื่องต่างๆก่อนวันสงกรานต์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำความสะอาด  การจัดทำอาหารไปทำบุญ ฯลฯ จะทำให้เรารู้สึกสดชื่น มีความหวัง และรอคอยด้วยความสุข การได้ทำความสะอาดบ้านก็เหมือนการได้ฝึกชำระจิตใจล่วงหน้าไปในตัว  

วันสงกรานต์  เมื่อวันสงกรานต์มาถึง  ก็จะเป็นเวลาที่ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส  จิตใจเบิกบานซึ่งกิจกรรมในวันนี้ก็มักจะเป็นการทำบุญตักบาตรตอนเช้า  หรือนำอาหารไปถวายพระที่วัด  ทำบุญอัฐิ  โดยอาจจะนิมนต์พระไปยังสถานที่เก็บหรือบรรจุอัฐิ   หากไม่มีก็เขียนเพียงชื่อในกระดาษก็ได้  เมื่อบังสุกุลเสร็จแล้วก็เผากระดาษนั้นเสีย  การสรงน้ำพระ จะมี ๒ แบบคือ สรงน้ำพระภิกษุสามเณร และการสรงน้ำพระพุทธรูป

นอกจากนี้ยังมี การก่อเจดีย์ทราย โดยนำทรายมาก่อเป็นเจดีย์ต่างๆในวัด  จุดประสงค์ก็คือให้วัดได้ประโยชน์ในการก่อสร้างหรือใช้ถมพื้นต่อไป เพราะสมัยก่อนคนมักเข้าวัดทำกิจกรรมต่างๆ  เขาก็ถือว่าทรายอาจติดเท้าออกไป ดังนั้น เมื่อถึงปีก็ควรจะขนทรายไปใช้คืน  การปล่อยนกปล่อยปลา  ซึ่งช่วงเทศกาลสงกรานต์มักจะเป็นหน้าแล้ง  น้ำแห้งขอดอาจจะทำให้ปลาตาย จึงมักมีการปล่อยนกปล่อยปลาที่ติดบ่วงติดน้ำตื้นให้เป็นอิสระ หรือบางแห่งก็มีการปล่อยพันธุ์ปลาลงสู่แหล่งน้ำ เพื่อช่วยสร้างสมดุลธรรมชาติ

นอกเหนือไปจากการทำบุญข้างต้นแล้ว ก็ยังมีการรดน้ำขอพรผู้อาวุโสหรือผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือในครอบครัว  ชุมชนหรือที่ทำงาน  การรดอาจจะรดทั้งตัวหรือเฉพาะที่ฝ่ามือก็ได้  และควรจัดเตรียมผ้านุ่งหรือของไปเคารพท่านด้วย
สำหรับการเล่นรื่นเริง จะมีหลายอย่าง เช่น  เข้าทรงแม่ศรี การเข้าผีลิงลม   การเล่นสะบ้า    เล่นลูกช่วง  เล่นเพลงพิษฐาน(อธิษฐาน) รวมไปถึงมหรสพและการแสดงต่างๆ เป็นต้น ขึ้นความนิยมของคนในพื้นที่นั้นๆ  

กิจกรรมอีกอย่างที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นที่นิยมและได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของสงกรานต์ไปแล้วก็คือ  การเล่นรดน้ำระหว่างเด็กๆ และหนุ่มสาว  ซึ่งแต่เดิมนั้นมักเล่นกันเฉพาะในหมู่ญาติมิตรเพื่อนฝูงเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยจะใช้น้ำสะอาดผสมน้ำอบ หรือน้ำหอม และเล่นสาดกันด้วยความสุภาพ มีไมตรีต่อกัน  

กิจกรรมที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ อาจจะมีความแตกต่างกันออกไปบ้างแล้วแต่ท้องถิ่น ทั้งนี้ขึ้นกับความเหมาะสมและ
ความต้องการของชุมชนนั้นๆเป็นสำคัญ  แต่เราจะเห็นได้ว่ากิจกรรมในเทศกาลนี้ล้วนทำให้สงกรานต์เป็นประเพณีที่งดงาม   อ่อนโยน   เต็มไปด้วยความเอื้ออาทร   ความกตัญญูและความเคารพซึ่งกันและกัน  อย่างไรก็ดี  จากยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเช่นปัจจุบัน ได้ทำให้ความหมาย คุณค่าและสาระของสงกรานต์
ได้แปรเปลี่ยนไปด้วย จนทำให้คนยุคนี้ โดยเฉพาะเยาวชนได้เห็นแต่เพียงความสนุกสนานจากการเล่นสาดน้ำ ที่ได้กลายพันธุ์จนเป็น “สงครามน้ำ”ไปแล้วอย่างน่าเสียดาย  ดังนั้น คงจะยังไม่สายเกินไปที่เราจะได้เรียนรู้ และรู้จักเลือกประพฤติปฏิบัติกิจกรรมที่เป็นแก่นแท้หรือสาระของสงกรานต์อย่างแท้จริง กิจกรรมใดที่หลงเหลือแต่เพียงรูปแบบแต่ขาดความหมาย เช่น การก่อพระเจดีย์ทราย
ซึ่งสมัยนี้มิได้มีวัตถุประสงค์ให้พระภิกษุนำไปใช้ประโยชน์เช่นกาลก่อน หรือการปล่อยนกปล่อยปลาที่ได้กลายมาเป็นธุรกิจเพื่อการซื้อการขาย ก็อาจจะยกเลิกหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ให้เหมาะกับยุคสมัยหากจำเป็น  

ส่วนกิจกรรมที่ยังสมควรปฏิบัติ เพื่อสืบทอดความดีงามและคุณค่าของประเพณีนี้เอาไว้ก็ยังมีอยู่  เช่นการทำบุญตักบาตร นำอาหารไปถวายพระ ถือเป็นการสืบทอดและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เป็นการกล่อมจิตใจให้รู้จักการให้และเสียสละ การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ ก็เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณผู้ล่วงลับไปแล้ว   การสรงน้ำพระ  ทั้งพระภิกษุและพระสงฆ์    ก็เพื่อความเป็นสิริมงคล  และเป็นการแสดงความเคารพต่อปูชนียบุคคลผู้สืบทอดพระศาสนา  การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ เป็นการแสดงความเคารพและความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ เป็นการแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนทำให้ท่านเมตตาเอ็นดู และการที่ท่านให้พร ก็เป็นการเตือนสติให้เราเริ่มต้นชีวิตด้วยความไม่ประมาท  ส่วนการรดน้ำหรือสาดน้ำเล่นกัน ก็ควรจะอยู่ในขอบเขตความเหมาะสม ไม่เล่นรุนแรง หรือใช้น้ำสกปรก เพราะเป็นสร้างสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกัน  มิใช่การไล่ล่าศัตรู  การละเล่นรื่นเริงต่างๆ ก็จะช่วยให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน  เป็นต้น

............................................................

กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม


วัดธรรมบารมี เมืองดอร์มุนด์